BJC ชี้เทรนด์ธุรกิจค้าปลีก ชิงตลาดในโลก ‘เมตาเวิร์ส ‘

“บีเจซี” รับเบรก แผนออกเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี – เก็บสะสมในโลกเมตาเวิร์ส นำมาซื้อสินค้าและบริการ หลังหน่วยงานกำกับเตรียมสั่งห้าม ด้าน เอสซีซี ส่ง 3 ธุรกิจหลักสยายปีกสู่ผู้นำตลาดอาเซียน ตั้งเป้า 2-3 ปี รายได้แตะ 30-40%

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า บริษัทมีการศึกษาการออกเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี และรูปแบบการเก็บสะสมเหรียญ ในโลกเมตาเวิร์ส เพื่อนำเหรียญมาใช้จ่ายซื้อสินค้า และบริการ ซึ่งรูปแบบเหมือนเกม Pokemon GO เชื่อว่าเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจค้าปลีกทุกรายต้องทำ

ทั้งนี้แผนการศึกษาดังกล่าวของบริษัทโดนเบรกไว้ก่อน เพราะขณะนี้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน เตรียมห้ามไม่ให้นำเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี มาใช้จ่ายชำระสินค้า และบริการ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ต้องรอความชัดเจน

” แผนการศึกษาดังกล่าว เรามองว่า ยังมีความจำเป็นในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวได้ และคงต้องรอความชัดเจน และพิจารณาให้รอบด้านอีกครั้ง”

ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC กล่าวว่า บริษัทวางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตสู่ความเป็นผู้นำในตลาดอาเซียน ภายใต้ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง

ทั้งนี้วางเป้าหมาย 2-3 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนรายได้ในอาเซียนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30-40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25-30% ของรายได้รวม โดยมองหาโอกาสการทำ Merger & Partnership (M&P) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจอาเซียน เน้นประเทศที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจยังเติบโตอีกมาก และตลาดยังมีโอกาสเติบโตสูง โฟกัสที่เวียดนาม และอินโดนีเซีย

สำหรับในเวียดนาม บริษัทได้เข้าไปลงทุนทางด้านปิโตรเลียม เคมิคอล ปัจจุบันโรงงานก่อสร้างเสร็จแล้ว 90% และน่าจะเริ่มทดสอบการผลิตได้ในกลางปีนี้ และเริ่มผลิตจริงในกลางปี 2566 มีกำลังการผลิตเริ่มต้นราว 40% ของตลาด ส่วนธุรกิจแพคเกจจิ้ง สร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเวียดนามตอนเหนือ คาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2567

ขณะที่ในอินโดนีเซีย มุ่งนำร้านค้าปลีกสินค้าวัสดุก่อสร้างวัสดุตกแต่ง เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ต่อเติมตกแต่งบ้าน และสวนแบบครบวงจร ปัจจุบันมี 30 ร้านค้า ยังมีโอกาสเติบโตมากกว่าไทย ซึ่งในไทยมีกว่า 200 ร้านค้า ด้วยศักยภาพจำนวนประชากรอินโดนีเซียที่มากกว่าไทย และตลาดยังมีความต้องการสูง

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business

admin