นายกฯกำชับทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน-ส่งเสริมการพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ ล็อคเป้าพื้นที่ EEC ดึงนักลงทุน-นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ด้าน “สุริยะ”คาดนิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค เปิดดำเนินการตามแผนปี 67 ชี้ช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ “วีริศ” สั่งเดินเครื่องเต็มสูบ ย้ำต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนควบคู่ไปด้วย
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิด “โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park)” ผ่านระบบออนไลน์ จากห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลว่า การดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการลงทุนในด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ EEC มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของ EEC ที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตลอดจนช่วยยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ
“ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อทำให้ EEC และประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงทุกมิติ สร้างสมดุลทุกด้านอย่างครอบคลุม ทั้งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy คำนึงถึงเรื่องพลังงานสะอาดและการอยู่ร่วมกับชุมชน โดยการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต้องพัฒนาควบคู่กันกับความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นไปอย่างยั่งยืน”นายกฯกล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ฃรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบการลงทุนในโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,370 ล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาล ที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสังคม ตั้งแต่ระยะก่อสร้าง โดยมีการจ้างงานประมาณ 200 คน ทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ ประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี ส่วนระยะดำเนินการ มีการจ้างงานประมาณ 7,400 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย
“ตามแผนการดำเนินงาน หลังจากลงนามในสัญญาจ้างผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ประมาณ 3 ปี และสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันความก้าวหน้าของงานก่อสร้างโครงการสะสมเท่ากับร้อยละ 7.66 (อัพเดท 21 มี.ค.65) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) จะเกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น”นายสุริยะกล่าว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการ “นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค(Smart Park)” รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยมีแนวคิดพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
โดยนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่างๆ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล ก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น ที่สำคัญต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งหลังจากนี้ กนอ.จะเร่งดำเนินการโปรโมทการขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คต่อไป
อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy